Category Archives: fish

Aquaponics คืออะไร

Aquaponics มาจากการรวมกันของสองคำ คือ Aquaculture กับ Hydroponic คือการเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกพืชแบบไร้ดิน การวิวัฒนาการศึกษาของทั้งสองเรื่องถือว่ามาถึงจุดที่สูง คือสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีถ้าทำอย่างถูกต้อง

hydroponic photo

การทำอควาโปนิคส์ คือการนำสองอย่างนี้มาประกอบกันเป็นระบบใหม่ที่เป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากขึ้น โดยส่วนประกอบหลัก มีสามส่วนคือ ปลา พืช และจุลินทร์หรือแบคทีเรียต่างๆ ส่วนที่ถูกมองข้ามไปบ่อยๆของaquaponics คือแบคทีเรียซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มให้กับระบบไนโตรเจนไซเคิล

ระบบ Aquaponics ไม่ใช้ดินในการปลูกแต่อาจจะใช้วัสดุปลูกอื่น เพื่อเป็นตัวประคองราก เช่น ดินเผา หิน กรวด หินภูเขาไฟ หรือแม้กระทั่งไม่ใช้วัสดุปลูกเลยหรือ เทคนิค NFT

ระบบนิเวศเล็กๆในระบบAquaponics

ปลาขับของเสียต่างๆและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นอันตรายกับปลา และลดทอนคุณภาพน้ำ ในระบบอควาโพนิคส์ น้ำจากการเลี้ยงปลาจะถูกป้อนให้เข้า พื้นทีเลี้ยง ซึ่งจะถูกแบคทีเรียที่ดีทำการแปลงแอมโมเนียเป็นไนไตรต์และไนเตรตตามลำดับ

ไนเตรทและแร่ธาตุที่มีประโยชน์อื่นๆ จะถูกดูดซึมโดยพืช ทำให้คุณภาพน้ำดีและสะอาดมากขึ้น ตามสะอาดเหล่านี้ จะถูกหมุนเวียนกลับไปให้ปลา ส่วนของเสีย หรือตะกอน จะถูกกรองออกโดย กรองกายภาพ

น้ำสะอาดที่ถูกหมุนเวียนกลับไป และจะถูกเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เพื่อให้ได้ตามความต้องการของปลา ระบบนี้เป็นระบบที่จำลองระบบนิเวศของธรรมชาติ สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และไร้สารเคมี ทั้งปลาและพืชผักต่างๆ

อควาโปนิกส์แบบต่างๆ

ระบบอควาโปนิกส์ มีหลายระบบ แต่จะมี 3 ระบบที่ได้รับการยอมรับสูงสุดและเป็นระบบที่ใช้ อย่างแพร่หลาย ทั้งๆในครัวเรือนและอุตสาหกรรม

Media filled growbed

ระบบนี้เป็นระบบที่ทำง่ายที่สุด โดยในกระบะปลูก จะถูกใส่ด้วยวัสดุปลูกจนเต็ม วัสดุปลูก ที่ใช้ จะมีทั้งก้อนดินเผา กรวด หินภูเขาไฟ หรือวัสดุที่มีความคล้ายคลึง น้ำจะถูกสูบจากบ่อเลี้ยงปลาเข้ามาไว้ใน พื้นที่ปลูกพืช โดยจะมี 2 แบบ 1 คือ แบบใส่น้ำไว้ตลอดเวลา และ 2 คือแบบ ที่มีการระบายน้ำทิ้งเป็นพักๆ

hydroponic photo

NFT nutrient film technique

ระบบนี้เป็นระบบที่ ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ในการปลูกพืชไร้ดินหรืออะควาโพนิค โดยจะไม่ใช้วัสดุปลูกในพื้นที่ปลูก แต่น้ำจะมีการไหลผ่านรากซึ่งน้ำที่มีแร่ธาตุอาหารเหล่านี้จะถูกดูดซึมไปใช้โดยพืชโดยตรง พืชที่เหมาะกับการปลูกลักษณะนี้ส่วนมากจะเป็นผักที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่จะไม่มีพื้นที่สำหรับยึดเกาะราก และจะทำให้ต้นล้มลงได้ ระบบนี้ถูกใช้มากในการปลูกเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด แต่ระบบนี้จำเป็นต้องมีการกรองน้ำที่ดี เนื่องจากแตกต่างจากการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ เพราะน้ำที่ มาจากบ่อเลี้ยงปลา จะมีตะกอนอยู่มากซึ่งทำให้เกาะติดกับรากพืช แล้วจะทำให้พืชขาดออกซิเจน

hydroponic photo

DWC deep water culture

ระบบนี้จะคล้ายกับระบบ nft แต่จะใช้ช่องน้ำขนาดใหญ่ แล้วปลูกพืชบนแพ ให้รากพืชลงไปหาอาหารในน้ำ ระบบนี้จะดีกว่าระบบ nft เพราะสามารถทำได้โดยใช้ต้นทุนต่ำกว่า สำหรับระบบขนาดใหญ่ เมื่อเทียบ กับระบบ nft ที่ต้องทำหลุมปลูกสำหรับพืชแต่ละต้น ระบบ dwc สามารถใช้แผ่นโฟม วางไว้บนน้ำ และเจาะหลุมเพื่อทำการปลูกพืช ระบบนี้สามารถทนต่อตะกอนในน้ำได้มากกว่าระบบ nft

hydroponic photo

ใครที่เหมาะกับการทำอควาโปนิกส์

ระบบอควาโปนิกส์ เป็นระบบที่มีความหลากหลายมาก สามารถทำได้ตั้งแต่ระบบขนาดเล็กสำหรับใช้ภายในบ้าน หรือทำเป็นระบบขนาดใหญ่เพื่อปลูกผักเป็นอุตสาหกรรม โดยจะได้ทั้งผลลัพธ์เป็นผัก และปลาในบ่อเลี้ยงที่มีขนาดสมบูรณ์

aquaponics photo
Photo by Mananasoko

ระบบ aquaponic ถูกใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
โดยใช้เป็นสื่อการสอนสำหรับในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เนื่องจากระบบอควาโปนิกส์เป็นการจำลองระบบนิเวศภายในธรรมชาติ เป็นระบบที่เข้าใจได้ไม่ยากและได้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นเต้น ทำให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจ การอยู่ร่วมกันระหว่างสัตว์น้ำและพืชในระบบนิเวศ เหมาะทั้งในระดับ เด็กเล็กไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ระบบอควาโปนิกส์ได้รับการยอมรับ ให้เป็นสื่อการสอนที่ดีทั้งทางทฤษฎีและในภาคปฏิบัติ และยังเป็นสื่อในการ สอนการทำอาชีพทางด้านเกษตรกรรม

aquaponics photo
Photo by Kanu Hawaii

พืชชนิดใดที่เหมาะกับการปลูกอควาโปนิกส์

พืชผักต่างๆ ทั้งที่โตเร็ว เก็บผลผลิตทั้งต้น เช่นผักต่างๆผักกาด ผักกาดหอม ผักสลัดต่างๆกรีนโอ๊คเรดโอ๊คผักคอส หรือเก็บเฉพาะผล เช่นมะเขือเทศ เมล่อนพริก แตงกวา ในระบบอควาโปนิกส์ขนาดใหญ่ ยังสามารถปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ได้ด้วย ถ้ามีระบบประคองลำต้นที่ดีพอ เนื่องจากระบบอควาโปนิกส์ ไม่ใช้ดิน จึงต้องมีส่วนช่วยค้ำจุนลำต้น

aquaponics photo
Photo by Cara Harpole

ปลาที่เหมาะกับระบบอควาโปนิกส์

ควรเป็นปลาที่เติบโตในท้องถิ่น เนื่องจากสภาวะและอุณหภูมิที่เหมาะสม ในประเทศไทย ปลาที่สามารถ ทนสภาพแวดล้อมได้ดี และมีตลาดรับซื้อเมื่อปลาตัวเต็มวัย เช่นปลานิล ปลาทับทิม หรือปลาดุก แต่สำหรับผู้ที่ ไม่ได้ต้องการผลผลิตจากปลา ก็สามารถเลี้ยงปลาสวยงามแทนได้ เช่นปลาทอง ปลาคาร์ฟ หรือปลาสวยงามอื่น ในต่างประเทศที่มีอุณหภูมิเย็น นิยมเลี้ยงปลาค็อต ปลาเทร้าท์ และปลาดุก

aquaponics photo
Photo by Kanu Hawaii

เพิ่มคุณภาพน้ำ ให้กับการเลี้ยงปลา สวยงาม

ในบ่อ หรือตู้ปลาสวยงาม ที่มีระบบกรองที่สมบูรณ์แล้ว จะได้ของเหลือจากการย่อยสลาย แอมโมเนียและไนไตรท์ โดยแบคทีเรียที่ดีคือ ไนเตรท ซึ่งตามปกติไนเตรทไม่สามารถถูกขับออกไปจากระบบเลี้ยงได้ ทำได้เพียง การทำให้เจือจางลง ด้วยการถ่ายน้ำเก่าและเติมน้ำใหม่เข้าไปในระบบ แต่เรา สามารถต่อยอดด้วยการเพิ่มระบบอควาโปนิกส์ โดยไม่ส่งผลกระทบกับบ่อปลาสวยงามที่มีอยู่ เพราะพืชที่ปลูกเพิ่มลงไป จะดึงไนเตรทออกจากน้ำ โดยที่ไม่ต้องถ่ายน้ำ ลดภาระให้กับผู้เลี้ยง ในต่างประเทศ นิยมใช้พืชตระกูลพลูด่างในการ ดูดซึมไนเตรตออกจากระบบ มีผู้ทดลองนำต้นโกงกาง สำหรับปลา ทะเลสวยงาม โดยปลูกต้นโกงกางไว้ในบ่อกรอง พบว่าปริมาณไนเตรทลดลง และได้ผลดี

ปลาทองกินอะไรได้บ้าง

ปลาทองเป็นปลาที่กินอาหารอะไรก็ได้เกือบทุกอย่าง ถึงขนาดมีคนกล่าวว่ามันเป็นปลาที่กินทุกอย่างที่เข้าปากมันได้พอดี

Goldfish would eat everything that fits in their mouth

ปลาทองสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์

แต่ไม่ใช่อาหารทุกอย่างที่ปลาทองกินได้จะมีประโยชน์ดีกับเค้า ปลาทองควรได้รับอาหารที่สมดุลด้วยหลักการง่ายๆ

  • อาหารปลาสำเร็จรูปคุณภาพดี อาหารเม็ด อาหารเจล
  • พืชผักที่มีเส้นใย เช่น ถั่วลันเตาแกะเปลือก ผักกาดหอม
  • อาหารสดจากธรรมชาติ เช่น หนอนแดง ไรแดง ไส้เดือน กุ้งฝอย

อาหารสำเร็จรูปสำหรับปลาทอง

ปลาทองสามารถเลี้ยงได้ด้วยอาหารสำเร็จรูปที่เป็นรูปแบบของเม็ดทั้งเม็ดจม เม็ดลอย หรือแบบเจล อาหารสำเร็จรูปคุณภาพดีจะต้องมีส่วนผสมที่สมดุลของ โปรตีน ไขมัน คาโบไฮเดรต และวิตามิน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับปลาทอง

อาหารสำเร็จรูปพวกนี้เหมาะจะให้ปลากินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป หรือให้ในปริมาณที่ปลาสามารถกินหมดได้ภายใน 1 นาที วันละครั้ง

การให้อาหารสำเร็จรูปมากเกินไปอาจทำให้ปลาป่วยเป็นโรคถุงลม (swim bladder) ได้อาหารของปลาที่ป่วยเป็นโรคนี้คือจะเสียการทรงตัว ไม่สามารถควบคุมการว่ายไปมาได้ปกติ

sweet pea photo

พืชผักที่มีเส้นใยเหมาะกับปลาทอง

การให้อาหารประเภทพืชผักที่มีเส้นใยในตู้จะช่วยให้ลำไส้ของปลาทำงานได้ดีขึ้น สังเกตุว่าปลาทองที่เลี้ยงในบ่อดิน หรือบ่อที่มีพืชธรรมชาติจะไม่ค่อยพบปัญหาเสียการทรงตัว เหมือนกันเลี้ยงในตู้ เพราะในบ่อมีอาหารธรรมชาติที่หลากหลายให้ปลาได้กินเล่นอยู่ตลอดเวลา

ปลาทองสามารถหาอะไรกินเล่นได้ตลอดเวลา เค้าสามารถกินได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่ในระบบปิด หรือตู้ปลาเรา จะให้อะไรทดแทนดี

ไม่ยากเลย

เราสามารถให้พืชผักที่หาได้ง่ายทดแทนได้ เช่นผักกาด ผักโขม ผักที่มีใบค่อนข้างนิ่ม ล้างสะอาด หรือเลี้ยงพืชน้ำเช่นสาหร่ายประเภทต่างๆ ให้ปลากินเล่นได้

การให้ผักกับปลาทองเราควรทำการนำผักที่เหลือออกทุกวันหรือในสองวัน เพื่อป้องกันเรื่องคุณภาพน้ำ

คุณอาจจะรู้สึกแปลกใจว่าทำไมปลาทองของคุณถึงไม่กินผักพวกนี้ทันทีเมื่อใส่ลงไปครั้งแรก มันก็เหมือนกับคนที่เคยทานแต่เนื้อ แล้วเปลี่ยนมา ทานมังสวิรัตินั่นแหละ

อาจใช้เวลาหลายวันเพื่อให้ปลาทองของคุณเริ่มกินผักที่คุณให้ลงไป แต่รับรองว่ามันเป็นผลที่คุ้มค่าเมื่อคุณได้เห็นมันสนุกสนานกับผักสดๆนั้น และสุขภาพของปลาก็จะแข็งแรงขึ้น หรืออีกเทคนิคหนึ่งคือลองนำผักไปทำให้นิ่มดูก่อนอาจจะเอาไปใส่ในหม้อหุงข้าว แล้วค่อยเอามาใส่ให้ปลาลองกิน แต่ผักที่ผ่านการนึ่งแล้วอาจจะเสียไวควรรีบนำออกจากตู้ภายในหนึ่งวัน

ถั่วลันเตาเป็นอาหารที่ประโยชน์สูงมาก มีโปรตีนสูง และช่วยในเรื่องท้องอืด หรือโรคที่เกี่ยวกับถุงลมของปลาได้เป็นอย่างดี โดยเราสามารถซื้อถั่วลันเตาแช่แข็งที่เป็นเม็ดกลมๆ ใส่ถ้วยเล็กๆแล้วนำไปไว้ในหม้อหุงข้าว จากนั้นเอามาแกะเปลือกออก แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆให้ปลาทองกินได้เลย

อาหารสดอื่นๆสำหรับปลาทอง

อาหารสดอื่นๆเช่นหนอนแดงทั้งแบบแช่แข็งและไม่ใช่แข็ง ไรแดง ไส้เดือนต่างๆ เป็นอาหารสุดโปรดสำหรับปลาทอง ปลาทองชอบอาหารสดพวกนี้มากสามารถให้ในช่วงเวลาที่ปลามีความเครียดไม่ยอมทานอาหาร

การให้อาหารสัตว์ประเภทนี้ต้องให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อต่างๆได้ หนอนแดงแช่แข็งก็เป็นทางเลือกที่ดีเพราะว่าได้ผ่านการฆ่าเชื้อจากโรงงานเรียบร้อยแล้ว

ระบบกรองสำหรับเลี้ยงปลาทอง

จริงๆแล้วการเลี้ยงแบบไม่มีกรองทำได้ไหม? ทำได้ครับ แต่ว่าต้องถ่ายน้ำตลอดทุกวันเพื่อกำจัดของเสียออกไปจากน้ำเก่า แต่จะทำแบบนี้ทำไมล่ะ การเลี้ยงปลาทองต้องสนุกและสบายความสุขของเราควรอยู่เป็นการดูปลาว่ายน้ำอย่างร่าเริงไม่ใช่การถ่ายน้ำทุกวัน ถ้าเราสามารถสร้างระบบกรองที่ดีขึ้นมาได้ภาระการถ่ายน้ำจะลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ

ระบบกรองที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทอง เพราะปลาทองเป็นปลาที่ปล่อยของเสียเยอะ ทั้งจากขี้ปลาและการขับเมือกต่างๆ

จุดประสงค์ของระบบกรองคือการกำจัดของเสียออกไปจากพื้นที่เลี้ยง ระบบกรองที่ดีจะช่วยให้น้ำใส และคุณภาพน้ำดี การกรองน้ำสำหรับปลาทองแบ่งเป็นสามประเภท กรองกายภาพ กรองชีวภาพ และกรองเคมี

กรองกายภาพทำให้น้ำใส
กรองชีวภาพทำให้คุณภาพน้ำดี
กรองเคมีเพื่อปรับค่าเคมีในน้ำ

นักเลี้ยงปลาทองมือใหม่จะให้ความสำคัญกับกรองทางกายภาพเป็นหลักเพราะว่าทำให้น้ำใส แต่จริงๆแล้วสิ่งที่สำคัญคือคุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำดีถึงจะไม่ใสแต่ปลาอยู่แล้วมีความสุขกว่า

4 สิ่งที่ต้องคิดถึงเมื่อต้องเลือกระบบกรอง
พื้นฐานที่ควรรู้คือของเสียทางเคมีที่เกิดจากปลาคือแอมโมเนีย ของเสียทางกายภาพที่ทำให้เรารู้สึกว่าน้ำขุ่นคือเศษขี้ปลา หรือตะกอนที่อยู๋ในน้ำ เรามาดูกันว่าสิ่งที่ว่าคืออะไร

1. กระแสน้ำและความแรง
ลองนึกภาพว่าเวลาเราไปนั่งที่ลมพัดชิวๆเราก็รู้สึกสบายแต่ถ้าลมพัดแรงมาก พัดจนผมเพ้าพะรุงพะรัง เราคงอยากออกมาจากตรงนั้น

ที่นี้มาเทียบกับปลาทองระบบกรองที่ดีควรมีรอบน้ำที่เหมาะสม และกระแสน้ำที่เหมาะกับการเลี้ยง ปลาทองบางสายพันธุ์ก็สามารถอยู่กระแสน้ำแรงได้ เช่น พวกโคเมท พวกนี้สามารถอยู่ในกระแสน้ำได้ด้วยรูปร่างที่เพรียวบาง

ปลาทองสายพันธุ์ที่มีหางและครีบยาว อาจจะไม่เหมาะกับระบบกรองที่มีกระแสน้ำแรง เพราะกระแสน้ำที่ไหลตลอดจะทำให้ปลามีความเครียดไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้

2. ความสะดวกในการบำรุงรักษา
ระบบกรองที่บำรุงรักษาง่ายย่อมช่วยให้เราลดภาระของเวลาในการเปลี่ยนหรือนำกรองออกมาล้าง การล้างกรองที่หมักหมมบ้างจะช่วยเป็นการผลัดเปลี่ยนแบตทีเรียที่เก่าหรือตายออกไป เพื่อคืนพื้นที่ผิวให้กับแบตทีเรียที่มีประโยชน์

3. ประสิทธิภาพ
ระบบกรองที่สมบูรณ์นอกจากจะทำให้น้ำใสแล้ว จะต้องช่วยรักษาคุณภาพน้ำ พื้นที่ส่วนของกรองชีวภาพจะต้องมีพื้นที่ผิวที่มากพอให้เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เพื่อใช้ในการกำจัดแอมโมเนียและไนไตรท์ แอมโมเนียแทบจะเป็นสาเหตุหลักของการตายของปลาทองในตู้ของผู้เริ่มเลี้ยง

4. พื้นที่สำหรับติดตั้งกรอง
ระบบกรองยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ยิ่งดีกับการเลี้ยงปลาทอง เพราะจะทำให้คุณภาพน้ำ รวมทั้งอุณหภูมิ ค่อนข้างคงที่ แต่เราคงต้องเลือกระบบกรองที่เหมาะสมกับสภาพพืื้นที่ด้วย ระบบกรองมีหลากหลายมาก ทั้งกรองในตู้ กรองข้างตู้ กรองแขวน กรองฟองน้ำ กรองใต้กรวด กรองนอกตู้ จะเขียนเรื่องนี้เป็นลำดับต่อไป

ตั้งตู้ปลาใหม่

เริ่มจากการเตรียมพื้นที่วางตู้ปลา พื้นผิวต้องเรียบและสะอาด เศษกรวดขนาดเล็กเพียงก้อนเดียวสามารถทำให้ตู้ปลาแตกได้ง่ายๆ เมื่อใส่น้ำเต็มเนื่องจากตู้จะมีน้ำหนักมากแล้วก้อนกรวดจะเป็นจุดเดียวที่รับแรงกระทำบนแผ่นกระจก ตู้ปลาแบบกระจกน้ำหนักจะลงที่ขอบตู้ จะเห็นได้ว่าขาตู้ปลาที่ขายทั่วไปจะเว้นตรงกลางไว้เพราะไม่ได้รับแรงอะไรมาก แตกต่างจากตู้ปลาอคลิลิก ตู้ประเภทนี้อันนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากราคาที่สูง ตู้ปลาประเภทนี้น้ำหนักจะลงทั่วทั้งแผ่นด้านล่างไม่เหมาะจะวางบนขาที่มีขายทั่วไปที่ใช้แผ่นโฟมรองแล้วเป็นคานเลย ควรมีไม้วางเพื่อรองพื้นก่อน

ควรตั้งตู้เปล่าๆให้ได้ระดับระนาบ นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วการตั้งตู้ปลาให้ได้ระดับเป็นการลดปัญหาตู้แตก รั่วร้าว ต่างๆได้ เนื่องจากเมื่อตู้ปลาเอียง จะทำให้กระจกด้านใดด้านหนึ่งต้องรับแรงมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลให้ซิลิโคนฉีกหรือกระจกแอ่นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับตู้ปลาขนาดใหญ่ที่กระจกไม่ได้หนาแบบพิเศษ การตั้งตู้ให้ได้ระดับจะช่วยลดปัญหาที่ตามมาในอนาคตได้ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ ก็สามารถใส่น้ำแล้ววัดจากขอบบน ทุกมุมทั้ง 4 มุมของตู้ไม่ควรห่างกันเกิน 1-2 เซนติเมตร

ใส่อุปกรณ์ต่างๆ เช่นกรอง ปั๊มลม หินประดับต่างๆ และทำการเติมน้ำประปาที่ไม่มีคลอรีน เรื่องคลอรีนนี่สำคัญมาก ควรใช้น้ำประปาที่ผ่านการกรองเอาคลอรีนออกเพราะว่าคลอรีนเป็นอันตรายกับปลา หรือสามารถรองน้ำไว้เฉยๆ คลอรีนก็สามารถระเหยไปได้เองใน 2-3 วัน สำหรับท่านที่ใช้น้ำบ่อหรือบาดาลถ้าค่า PH ได้มาตราฐาน 7-7.5 ก็สามารถใช้ได้เลย

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกรองชีวภาพ

มีความเข้าใจที่ถูกบอกต่อๆกันมาหรือการเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบกรองชีวภาพและ ระบบนิเวศของปลามากมาย


1. เศษตะกอนดำๆในระบบกรองเป็นของเสียจากพื้นที่เลี้ยง ควรเอาออกบ่อยๆเท่าที่จะเป็นไปได้ ควรล้างกรองชีวภาพให้สะอาดทุกครั้งที่ทำความสะอาด นี่เป็นเรื่องที่เป็นสาเหตุของการที่ระบบกรองชีวภาพล่ม เนื่องจากที่เราล้างกรองแล้วทำการล้างแบคทีเรียที่มีประโยชน์ทิ้งไป ทำให้ปริมาณของเสียกับแบคทีเรียขาดความสมดุล


2. ถ้าระบบกรองไม่มีของเสียเลย แบคทีเรียดีจะค่อยๆตายไปเอง เรื่องจริงแบคทีเรียดีมีอายุอยู่ได้นานโดยใช้อาหารหรือของเสียเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าไม่มีของเสียเลยแบคทีเรียดีไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อันนี้เป็นเรื่องจริง


3. การนำกรองชีวภาพจากตู้หรือบ่อที่ระบบกรองเข้าที่แล้วมาใส่ในตู้ใหม่เป็นการแพร่กระจายโรคต่างๆ จริงๆแล้วการนำวัสดุกรองชีวภาพจากระบบที่มีความสมดุลแล้วมาใส่ในตู้ใหม่ เป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก สามารถทำให้ระบบกรองชีวภาพเซทตัวได้ในเวลาอันสั้น นี่เป็นสิ่งที่นักเลี้ยงปลาอาชีพทำกันแต่ไม่ได้บอกมือใหม่


4. แบคทีเรียดีจะเติบโตตามจำนวนของเสีย ถ้าของเสียมีน้อยก็จะมีแบคทีเรียดีน้อย ความจริงแล้วแบคทีเรียดีจะเติบโตและขยายพันธุ์ตามพื้นที่ผิวที่มีอยู่ในระบบกรอง ยิ่งระบบกรองมีพื้นที่ผิวมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีจำนวนแบคทีเรียดีมากขึ้นเท่านั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ผิวของวัสดุกรองที่เลือกใช้


5. แบคทีเรียดีแบบบรรจุขวด สามารถช่วยให้ระบบกรองเซทตัวเร็วขึ้น เพราะเป็นแบคทีเรียที่มีความเข้มข้นสูง เรื่องนี้เป็นความจริงแค่บางส่วน แบคทีเรียที่ดีสามารถหาได้ไม่ยากเลยใน 1 กรัมของดินที่ไว้ปลูกต้นไม้ทั่วไป มีแบคทีเรียดีถึง 19,000,000 ตัว เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ดินเพียง 1 กรัม หรือ วัสดุกรองใช้แล้วจากระบบกรองที่เซทตัวแล้วเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นตัวเริ่มในการสร้างระบบกรองชีวภาพได้เลย โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก

ไนโตรเจนไซเคิลในระบบกรองชีวภาพ

การปรับสมดุลกรองชีวภาพของกรอง เพื่อการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอะไร สามารถทำได้หลายวิธี เรามาเริ่มจากพื้นฐานกันก่อน

แอมโมเนียเป็นอันตรายต่อปลา

ของเสียที่ขับออกจากตัวปลา เช่นพวกขี้ปลา เมือกต่างๆของปลาที่ถูกขับออกมา หรืออาหารที่ปลากินไม่หมด เป็นตัวตั้งต้นของแอมโมเนียที่เกิดขึ้น แอมโมเนียพวกนี้เป็นอันตรายต่อปลาโดยตรง โดยจะทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ของปลา โดยเฉพาะส่วนเหงือกและไต ทำให้ปลาโตช้าและมีภูมิต้านทานต่ำ

แอมโมเนียสามารถถูกกำจัดออกไปได้ด้วยแบคทีเรียดี ชื่อ Nitrosomonas sp. แบคทีเรียนี้จะอยู่บนพื้นที่ผิวภายในตู้ อาหารของมันคือแอมโนเนีย หลังจากมันทำการย่อยแอมโมเนียแล้ว สี่งที่ได้คือ ไนไตรท์ ซึ่งจะมีแบคทีเรียประเภทที่สอง Nitrobacter sp. ใช้ไนไตรท์เป็นอาหาร แล้วปล่อยไนเตรทออกมา ซึ่งจะทำให้วงจรสมบูรณ์ เพราะไนเตรทเป็นอันตรายกับปลาน้อยกว่าสองตัวที่กล่าวไปคือ ไนไตรท์และแอมโมเนียมาก

แบคทีเรียดีทั้งสองชนิด จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีแอมโมเนีย และออกซิเจน

Nitrogen Cycle สำคัญอย่างไร

ต้องมารู้จักไนโตรเจนไซเคิลก่อน ของเสียที่ออกมาจากปลาหรือเศษอาหารที่หมักหมมในตู้จะถูกย่อยสลายกลายเป็นแอมโมเนีย แล้วจะถูกย่อยโดยแบคทีเรียอีกประเภทหนึ่ง เพื่อแปลงเป็นไนไตรท์ และอีกครั้งเป็น ไนเตรท

NH3 > NO2 > NO3
แอมโมเนีย > ไนไตรท์ > ไนเตรท

สารที่มีอันตรายกับปลามากคือ แอมโมเนีย NH3 และไนไตรท์ NO2 ส่วนไนเตรทจะมีอันตรายกับปลาน้อยถ้าความเข้มข้นไม่สูงมากเกินไป

ไนโตรเจนไซเคิล สร้างได้ยังไง

การเกิดไนโตรเจนไซเคิลในระบบกรองชีวภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องมีแบคทีเรียดีที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยแบคทีเรียดีจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการให้อาหารมัน ซึ่งอาหารของมันก็คือแอมโมเนีย NH3 แอมโมเนียจะได้จากการที่ปลาขับของเสียออกหรือจากอาหารปลา ซึ่งเป็นแบคทีเรียชั้นดี เมื่อมีอาหาร แบคทีเรียจะเกิดขึ้นเองตากธรรมชาติ ตามพื้นที่ผิวที่มีในตู้ปลา เช่น ผิวตู้ หิน หัวทราย และที่มากที่สุดคือในวัสดุกรอง ที่เราจะเห็นเป็นคราบสีดำหรือสีน้ำตาล ในตู้ปลาที่ได้มีการไซเคิลแล้ว

ไนโตรเจนไซเคิลที่สมบูรณ์ต้องใช้เวลาเพราะการเปลี่ยนจาก ไนไตรท์เป็นไนเตรทก็จะต้องใช้แบคทีเรียอีกประเภทนึง ซึ่งจะกินของเสียจากแบคทีเรียชนิดแรก สิ่งที่เราทำได้ก็คือรอเวลา

โดยทั่วไประบบไนโตรเจนไซเคิลจะเข้าที่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 สัปดาห์ที่อุณหภูมิ 25 องศา และจะช้าลงอีกถ้าน้ำมีอุณหภูมิต่ำ

ต้องใช้เวลาในการสร้างระบบกรองชีวภาพ

Nitrosomonas จะขยายตัวเป็นสองเท่าในเวลา 6 ชั่วโมง และ Nitrobacter ใช้เวลา 13 ชั่วโมง แบคทีเรียดีพวกนี้ขยายพันธ์ได้ช้ามาก ถ้าเทียบกับแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรค เช่น เชื่อ E.coli ที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร จาก 1 เซลสามารถขยายเป็น 35ล้านล้านเซล ภายใน 6 ชั่วโมง

โดยปกตินักเลี้ยงปลาจะอยากเริ่มเลี้ยงทันทีแต่ไม่อยากรอ
การสร้างระบบกรองชีวภาพสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันแรกที่เลี้ยง ไม่จำเป็นต้องรอให้ระบบกรองเข้าที่ก่อนเพื่อลงปลา แต่จะต้องทำการถ่ายน้ำใหม่เรื่อยๆ เพื่อลดระดับของเสียที่เกิดขึ้นจนกว่าระบบกรองชีวภาพจะเข้าที่ โดยการไซเคิลระบบกรองแบบนี้จะใช้เวลานานมากเนื่องจากแบคทีเรียจะเกิดขึ้นได้น้อย อาจจะใช้เวลาถึง 8 สัปดาษ์ระบบถึงจะเข้าที่

ควรให้อาหารแต่น้อยในช่วงที่ระบบยังไม่เข้าที่ เพราะปลาขับของเสียตลอดเวลาทั้งทางเมือกและเหงือก แม้จะไม่ได้กินอาหาร การให้อาหารมากเกินไปจะทำให้แอมโมเนียในตู้มีมากจนเป็นอันตรายต่อปลา

Image by kasiejb