Tag Archives: filter

ระบบกรองสำหรับเลี้ยงปลาทอง

จริงๆแล้วการเลี้ยงแบบไม่มีกรองทำได้ไหม? ทำได้ครับ แต่ว่าต้องถ่ายน้ำตลอดทุกวันเพื่อกำจัดของเสียออกไปจากน้ำเก่า แต่จะทำแบบนี้ทำไมล่ะ การเลี้ยงปลาทองต้องสนุกและสบายความสุขของเราควรอยู่เป็นการดูปลาว่ายน้ำอย่างร่าเริงไม่ใช่การถ่ายน้ำทุกวัน ถ้าเราสามารถสร้างระบบกรองที่ดีขึ้นมาได้ภาระการถ่ายน้ำจะลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ

ระบบกรองที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทอง เพราะปลาทองเป็นปลาที่ปล่อยของเสียเยอะ ทั้งจากขี้ปลาและการขับเมือกต่างๆ

จุดประสงค์ของระบบกรองคือการกำจัดของเสียออกไปจากพื้นที่เลี้ยง ระบบกรองที่ดีจะช่วยให้น้ำใส และคุณภาพน้ำดี การกรองน้ำสำหรับปลาทองแบ่งเป็นสามประเภท กรองกายภาพ กรองชีวภาพ และกรองเคมี

กรองกายภาพทำให้น้ำใส
กรองชีวภาพทำให้คุณภาพน้ำดี
กรองเคมีเพื่อปรับค่าเคมีในน้ำ

นักเลี้ยงปลาทองมือใหม่จะให้ความสำคัญกับกรองทางกายภาพเป็นหลักเพราะว่าทำให้น้ำใส แต่จริงๆแล้วสิ่งที่สำคัญคือคุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำดีถึงจะไม่ใสแต่ปลาอยู่แล้วมีความสุขกว่า

4 สิ่งที่ต้องคิดถึงเมื่อต้องเลือกระบบกรอง
พื้นฐานที่ควรรู้คือของเสียทางเคมีที่เกิดจากปลาคือแอมโมเนีย ของเสียทางกายภาพที่ทำให้เรารู้สึกว่าน้ำขุ่นคือเศษขี้ปลา หรือตะกอนที่อยู๋ในน้ำ เรามาดูกันว่าสิ่งที่ว่าคืออะไร

1. กระแสน้ำและความแรง
ลองนึกภาพว่าเวลาเราไปนั่งที่ลมพัดชิวๆเราก็รู้สึกสบายแต่ถ้าลมพัดแรงมาก พัดจนผมเพ้าพะรุงพะรัง เราคงอยากออกมาจากตรงนั้น

ที่นี้มาเทียบกับปลาทองระบบกรองที่ดีควรมีรอบน้ำที่เหมาะสม และกระแสน้ำที่เหมาะกับการเลี้ยง ปลาทองบางสายพันธุ์ก็สามารถอยู่กระแสน้ำแรงได้ เช่น พวกโคเมท พวกนี้สามารถอยู่ในกระแสน้ำได้ด้วยรูปร่างที่เพรียวบาง

ปลาทองสายพันธุ์ที่มีหางและครีบยาว อาจจะไม่เหมาะกับระบบกรองที่มีกระแสน้ำแรง เพราะกระแสน้ำที่ไหลตลอดจะทำให้ปลามีความเครียดไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้

2. ความสะดวกในการบำรุงรักษา
ระบบกรองที่บำรุงรักษาง่ายย่อมช่วยให้เราลดภาระของเวลาในการเปลี่ยนหรือนำกรองออกมาล้าง การล้างกรองที่หมักหมมบ้างจะช่วยเป็นการผลัดเปลี่ยนแบตทีเรียที่เก่าหรือตายออกไป เพื่อคืนพื้นที่ผิวให้กับแบตทีเรียที่มีประโยชน์

3. ประสิทธิภาพ
ระบบกรองที่สมบูรณ์นอกจากจะทำให้น้ำใสแล้ว จะต้องช่วยรักษาคุณภาพน้ำ พื้นที่ส่วนของกรองชีวภาพจะต้องมีพื้นที่ผิวที่มากพอให้เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เพื่อใช้ในการกำจัดแอมโมเนียและไนไตรท์ แอมโมเนียแทบจะเป็นสาเหตุหลักของการตายของปลาทองในตู้ของผู้เริ่มเลี้ยง

4. พื้นที่สำหรับติดตั้งกรอง
ระบบกรองยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ยิ่งดีกับการเลี้ยงปลาทอง เพราะจะทำให้คุณภาพน้ำ รวมทั้งอุณหภูมิ ค่อนข้างคงที่ แต่เราคงต้องเลือกระบบกรองที่เหมาะสมกับสภาพพืื้นที่ด้วย ระบบกรองมีหลากหลายมาก ทั้งกรองในตู้ กรองข้างตู้ กรองแขวน กรองฟองน้ำ กรองใต้กรวด กรองนอกตู้ จะเขียนเรื่องนี้เป็นลำดับต่อไป

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกรองชีวภาพ

มีความเข้าใจที่ถูกบอกต่อๆกันมาหรือการเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบกรองชีวภาพและ ระบบนิเวศของปลามากมาย


1. เศษตะกอนดำๆในระบบกรองเป็นของเสียจากพื้นที่เลี้ยง ควรเอาออกบ่อยๆเท่าที่จะเป็นไปได้ ควรล้างกรองชีวภาพให้สะอาดทุกครั้งที่ทำความสะอาด นี่เป็นเรื่องที่เป็นสาเหตุของการที่ระบบกรองชีวภาพล่ม เนื่องจากที่เราล้างกรองแล้วทำการล้างแบคทีเรียที่มีประโยชน์ทิ้งไป ทำให้ปริมาณของเสียกับแบคทีเรียขาดความสมดุล


2. ถ้าระบบกรองไม่มีของเสียเลย แบคทีเรียดีจะค่อยๆตายไปเอง เรื่องจริงแบคทีเรียดีมีอายุอยู่ได้นานโดยใช้อาหารหรือของเสียเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าไม่มีของเสียเลยแบคทีเรียดีไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อันนี้เป็นเรื่องจริง


3. การนำกรองชีวภาพจากตู้หรือบ่อที่ระบบกรองเข้าที่แล้วมาใส่ในตู้ใหม่เป็นการแพร่กระจายโรคต่างๆ จริงๆแล้วการนำวัสดุกรองชีวภาพจากระบบที่มีความสมดุลแล้วมาใส่ในตู้ใหม่ เป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก สามารถทำให้ระบบกรองชีวภาพเซทตัวได้ในเวลาอันสั้น นี่เป็นสิ่งที่นักเลี้ยงปลาอาชีพทำกันแต่ไม่ได้บอกมือใหม่


4. แบคทีเรียดีจะเติบโตตามจำนวนของเสีย ถ้าของเสียมีน้อยก็จะมีแบคทีเรียดีน้อย ความจริงแล้วแบคทีเรียดีจะเติบโตและขยายพันธุ์ตามพื้นที่ผิวที่มีอยู่ในระบบกรอง ยิ่งระบบกรองมีพื้นที่ผิวมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีจำนวนแบคทีเรียดีมากขึ้นเท่านั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ผิวของวัสดุกรองที่เลือกใช้


5. แบคทีเรียดีแบบบรรจุขวด สามารถช่วยให้ระบบกรองเซทตัวเร็วขึ้น เพราะเป็นแบคทีเรียที่มีความเข้มข้นสูง เรื่องนี้เป็นความจริงแค่บางส่วน แบคทีเรียที่ดีสามารถหาได้ไม่ยากเลยใน 1 กรัมของดินที่ไว้ปลูกต้นไม้ทั่วไป มีแบคทีเรียดีถึง 19,000,000 ตัว เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ดินเพียง 1 กรัม หรือ วัสดุกรองใช้แล้วจากระบบกรองที่เซทตัวแล้วเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นตัวเริ่มในการสร้างระบบกรองชีวภาพได้เลย โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก